FAQ: Tourist Tax คืออะไร? พาไปส่อง “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ของแต่ละประเทศ

รูปโปรไฟล์ของผู้เขียน

โดย Fai P. Trip

เมื่อพูดถึงการเดินทางไปต่างประเทศ หลายคนคงจะพอรู้จักมักคุ้นกับคำว่า ค่าเหยียบแผ่นดิน (Tourist Tax) กันบ้างแล้ว และทางประเทศไทยเราตอนนี้ก็กำลังเป็นกระแสอย่างมาก และจะมีการเริ่มใช้มาตรการนี้ในเดือนเมษายน 2565 นี้แล้ว

วันนี้พวกเรา Trip.com จึงได้รวบรวมรายละเอียด เงื่อนไขต่างๆ และนอกจากนี้ก็จะพาไปส่องค่าเหยียบแผ่นดินของประเทศอื่นๆ กันด้วย ถ้าพร้อมแล้ว เริ่มกันเลย!

ทำความรู้จักกับค่าเหยียบแผ่นดิน (Tourist Tax)

ค่าเหยียบแผ่นดิน หรือ ภาษีนักท่องเที่ยว คือ ค่าบริหารจัดการค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเมื่อเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทย โดยในวันที่ 1 เมษายน 2565 ประเทศไทยจะเริ่มเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย หรือ ค่าเหยียบแผ่นดิน เป็นจำนวนเงิน 300 บาท และเงินจำนวนนี้จะนำไปใส่ในกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2562 ฉบับปรับปรุงและเมื่อได้เก็บมาแล้ว ทางสำนักปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯจะรับผิดชอบดูแลนำไปพัฒนาภารกิจเร่งด่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่อไป

ค่าเหยียบแผ่นดินเริ่มเก็บเมื่อไหร่ ?

ภาครัฐจะทำการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 นี้ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคนละ 300 บาท เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และ ยังใช้ในการประกันภัยให้นักท่องเที่ยวอีกด้วย

ปีนี้ภาครัฐยังเดินหน้าโครงการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการเดินทางเที่ยวในประเทศ คาดว่าจะอยู่ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 7 แสนล้านบาท แม้จะมีสถานการ์ณระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่การคาดการณ์ท่องเที่ยวในปี 65 จะยังคงยืนเป้าหมายนี้ไว้อยู่เพื่อเป็นเป้าหมายสำหรับการทำงานต่อไป

ทำไมต้องเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน?

หลายๆ คนคงจะสงสัยว่าแล้วการที่เก็บค่าเหยียบแผ่นดิน นักท่องเที่ยวจะได้ประโยชน์อะไรจากการจ่ายเงินภาษีครั้งนี้บ้าง?

อย่างที่ทุกคนทราบกันค่ะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2562 ฉบับปรับปรุง โดยสำนักปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะรับผิดชอบดูแลนำเงินที่ได้มาไปพัฒนาภารกิจเร่งด่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งจำนวนเงินที่เก็บจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 300 บาทต่อคน จะดึงออกมา 50 บาท เพื่อนำไปซื้อประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยคาดว่าในปี 2565 เป็นปีแรกที่เก็บนี้อาจเหลือเงินในกองทุนนี้ 1,250 ล้านบาท ซึ่งเงินในส่วนนี้ก็จะนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ให้คำตอบว่า เงินส่วนนี้ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติทำการจ่ายค่าเหยียบแผ่นดินจะมีการทำประกันให้แก่นักท่องเที่ยว กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือ ค่ารักษาพยาบาล ได้รับสูงสุด 5 แสนบาท เป็นต้น โดยวางแผนเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินกรณีเดินทางทางอากาศ และอยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการเรียกเก็บจากการเดินทางทางบก

ใครต้องจ่ายค่าเหยียบแผ่นดินบ้าง ?

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เพื่อนๆ หลายคนคงจะมีความคิดที่ว่า ภาษีนี้เก็บเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ แล้วในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางกลับประเทศจำเป็นต้องจ่ายหรือไม่?

ในการจัดเก็บเงินเข้าประเทศ หรือ ค่าเหยียบแผ่นดิน จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จำนวน 300 บาทต่อคนนั้น ตามกำหนดเดิมจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 แต่จากการประเมินสถานการณ์และความพร้อมต่างๆ ได้พิจารณาและเลื่อนออกไปก่อน เพราะมีการหารือกับทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ถึงปัญหาเรื่องการจัดเก็บเงินที่ทางไออาต้า ระบุว่าต้องจัดเก็บกับทุกคนทั้งคนไทยและต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ซึ่งการเก็บเงินคนไทยด้วยนั้นขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย จึงเปลี่ยนมาประสานทางสายการบินให้จัดเก็บเงินนี้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้นแทน โดยจะคิดรวมอยู่กับราคาตั๋วเครื่องบินทันที ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมกำลังเจรจาร่วมกับสายการบินเกือบครบทุกสายการบินแล้ว คาดว่าในเดือนมีนาคมนี้จะเสร็จสิ้นได้ ขณะที่การเดินทางเข้าประเทศไทยทางบกจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวจ่ายเงินก่อนเดินทางเข้ามา และให้แสดงหลักฐานก่อนเข้าประเทศว่าได้จ่ายเงินแล้ว เพื่อความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ค่าเหยียบแผ่นดินของแต่ละประเทศ

แล้วประเทศไหนมีการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน หรือ ภาษีนักท่องเที่ยวกันบ้างนะ? แล้วแต่ละประเทศมีนโยบายอย่างไรกันบ้าง

สหรัฐอเมริกา : หลายๆ รัฐในสหรัฐอเมริกา ทั้งรัฐแคลิฟอร์เนีย (California) และเท็กซัส (Texas) มีการเก็บภาษีการเข้าพัก ทั้งในโรงแรมขนาดเล็กและโรงแรมขนาดใหญ่ โดยมีอัตราการเรียกเก็บที่แตกต่างกัน และรัฐเท็กซัสนั้นมีอัตราเรียกเก็บที่สูงที่สุดถึง 17% เลยทีเดียว

อิตาลี : ค่าธรรมเนียมของกรุงโรม เรียกเก็บภาษีเป็นจำนวนเงิน 3 ยูโรถึง 7 ยูโร (ประมาณ 110 บาท ถึง 260 บาท)

ญี่ปุ่น : มีการเรียกเก็บภาษีซาโยนาระ โดยจะมีค่าธรรมเนียมประมาณ 1,000 เยน (300 บาท) ที่นักท่องเที่ยวจะต้องจ่ายเมื่อเดินทางออกนอกประเทศ

เยอรมนี : เรียกเก็บภาษีเป็นจำนวนเงิน 5 ยูโร (ประมาณ 190 บาท) ต่อคนต่อวัน หรือ 5% ของราคาบิลโรงแรมที่เข้าพัก

สเปน : เรียกเก็บค่าธรรมเนียม 4 ยูโร (ประมาณ 150 บาท) ต่อวันต่อคน นอกจากนี้สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งอาจเรียกเก็บเงินพิเศษสำหรับผู้มาเยือน โดยในบาร์เซโลนา ผู้เข้าชมจะถูกเรียกเก็บเงินสูงถึง 2.50 ยูโร (ประมาณ 95 บาท) ต่อวัน

กรีซ : ภาษีนักท่องเที่ยว จำนวที่เก็บนั้นจะอิงตามจำนวนดาวของโรงแรมหรือจำนวนห้องที่เช่า มีตั้งแต่ 0.50 ยูโรถึง 4 ยูโร (ประมาณ 19 บาท ถึง 152 บาท) ต่อห้อง

สวิตเซอร์แลนด์ : ภาษีที่ถูกเรียกเก็บของนักท่องเที่ยวจะแตกต่างกันออกไปตามโลเกชั่นของที่พัก ยิ่งที่พักเล็กก็จะเก็บในราคาถูกลง โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 2.50 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 90 บาท)

ออสเตรีย : เก็บภาษีที่พักค้างคืน 3.02% สำหรับบิลโรงแรมต่อคนต่อคืน

ภูฏาน : ภาษีนักท่องเที่ยวสำหรับการเยี่ยมชมภูฏานคือค่าธรรมเนียมคงที่ 200 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,600 บาท) หรือ 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ประมาณ 8,300 บาท) ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของปี

บัลแกเรีย : ภาษีนักท่องเที่ยว เก็บเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ 0.20-3 เลฟ (ประมาณ 4-58 บาท) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเขตเทศบาล

มาเลเซีย : เก็บภาษีนักท่องเที่ยว 10 ริงกิตมาเลเซีย (ประมาณ 81 บาท) ต่อคนต่อคืน

อินโดนีเซีย : เกาะบาหลี เก็บภาษีนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ 10 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 330 บาท) นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังกำหนดภาษีขาออกซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละสนามบิน

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ ของค่าเหยียบแผ่นดิน สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หากเพื่อนๆ คนไหนอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ มาตรการกักตัวทางเลือก คลิ๊กที่นี่เลย ถ้าไม่อยากพลาดดีลเด็ด ๆ ต้องที่เลย Trip.com ที่จะทำให้คุณเข้าถึงทุกดีลได้อย่างรวดเร็วก่อนใคร

คำจำกัดความรับผิดชอบ: บทความนี้จัดทำโดยผู้ร่วมสร้างเนื้อหารายบุคคลหรือแพลตฟอร์มบุคคลที่สาม ในกรณีที่มีความผิดพลาดเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ โปรดติดต่อเราและเราจะลบเนื้อหาทันที